วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561

บทนำ


จากการไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เมื่อ 26 มกราคม 2561 ตามที่ได้รับมอบหมาย กลุ่ม A-11 เห็นว่า ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมโปรตุเกสของชุมชนซางตาครู้ส ย่านกุฎีจีนเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษา เนื่องจาก ชุมชนชาวโปรตุเกสในประเทศไทย ถือเป็นชุมชนชาวตะวันตกเพียงชุมชนเดียวที่ยังคงสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมจากครั้งสมัยอยุธยามาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ชุมชนชาวตะวันตกอื่นๆ หรือแม้แต่ชุมชนชาวญี่ปุ่นที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยอยุธยาในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ความเป็นชุมชนได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงเป็นที่มาของคำถามการทำโครงงานที่ว่า เงื่อนไขใดทางสังคมที่ส่งผลให้ชุมชนชาวโปรตุเกสในสังคมไทยยังคงรักษาลักษณะเด่นทางสังคม สามารถธำรงไว้ซึ่งความสืบเนื่องทางวัฒนธรรม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย



ความหมายของวัฒนธรรม


วัฒนธรรม หมายรวมถึง ทุกสิ่ง ทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นมา นับตั้งแต่ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา  กฎหมาย  ศิลปะ จริยธรรม ตลอดจนวิทยาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ คิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะการจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้มนุษย์จะต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและจะต้องรู้จักควบคุมความประพฤติของมนุษย์ด้วยกัน วัฒนธรรม คือคำตอบที่มนุษย์ในสังคมคิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้
วัฒนธรรม หมายถึง แบบแผนและเป็นเครื่องกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในแต่ละสังคมที่บ่งออกถึงความเจริญและความเสื่อม ตลอดจนวิวัฒนาการความเป็นมา และการดำรงอยู่ของสังคม สังคมและวัฒนธรรมจึงเป็นของคู่กัน ประเทศใดมีวัฒนธรรมดีจะส่งผลต่อความเจริญของคนในสังคม
วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิต (WAY OF LIFE) ของมนุษย์ในสังคม และแบบแผนในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุก ๆ อย่างรวมทั้งบรรดาผลงานทั้งมวลที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้น ตลอดจนความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และความรู้ต่าง ๆ
วัฒนธรรม มีความหมายครอบคลุมถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตมนุษย์ในสังคมของกลุ่มดกลุ่มหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งมนุษย์ได้สร้างสงระเบียบ กฎเกณฑ์วิธีในการปฏิบัติ รวมทั้งการจัดระเบียบ ตลอดจนระบบความ ความเชื่อ ค่านิยม ความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยได้วิวัฒนาการสืบทอดกันมาอย่างมีแบบแผน
วัฒนธรรม หมายถึง แบบแผนการดำเนินชีวิตที่ถือปฏิบัติหรือปรับเปลี่ยนสืบทอดกันมา ตั้งแต่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานหรือส่วนที่เกี่ยวข้องได้ให้ความหมายไว้คล้ายคลึงกัน
วัฒนธรรม โดยทั่วไปหมายถึง รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย และ ความเหมาะสม แต่ถ้าเป็นในวิชาหน้าที่พลเมืองจะแปลว่าสิ่งที่มนุษย์ เปลี่ยนแปลงเพื่อความเจริญงอกงาม และสืบต่อกันมา



ความสืบเนื่องของวัฒนธรรมโปรตุเกสในชุมชนซางตาครู้ส ย่านกุฎีจีน


1.จากการที่โปรตุเกสยึดครองมะละกาได้ ทำให้โปรตุเกสสามารถกุมอำนาจการค้าส่วนใหญ่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงได้ไว้ และด้วยเหตุนี้เองทำให้ชาวโปรตุเกสและวัฒนธรรมโปรตุเกสแพร่หลายเข้ามาในอยุธยามากขึ้น

กลุ่มทหารรับจ้างที่ได้เข้ามาอาศัยในอยุธยา ถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำสงคราม อาวุธทำสนธิสัญญาระหว่างสยามกับโปรตุเกส พ.ศ. 2059 อยุธยาได้ปืนใหญ่จากโปรตุเกสไว้ใช้สงคราม มีการจัดกองทหารอาสาโปรตุเกส ปรับปรุงให้ทันสมัย มีทหารโปรตุเกสเป็นที่ปรึกษา สมัยพระไชยราชาธิราช ชาวโปรตุเกส 120 คน ร่วมศึกกับเชียงกราน เลยให้ชาวโปรตุเกสสร้างบ้านอยู่มั่นคง เกิดชุมชนทหารอาสาและพ่อค้าโปรตุเกสครั้งแรก และถือเป็นเป็นครั้งแรกที่มีหมู่บ้านชาวโปรตุเกสอย่างเป็นรูปธรรมในสมัยอยุธยา

หมู่บ้านโปรตุเกสที่กรุงศรีอยุธยา ถูกเผาทำลายลงในการทำสงครามเสียกรุงศรี เมื่อ 2310 อพยพกันไป ส่วนหนึ่งไปเข้ารบกับกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสิน จากหลักฐาน ยศทหารรับจ้างโปรตุเกส ขุนฤทธิ์สำแดงเจ้ากรมซ้ายแห่ง กรมทหารฝรั่งแม่นปืน
สมัยธนบุรี พระเจ้าตากสิน ก่อตั้งศาสนสถานชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก บาทหลวงกอร์ ตั้งชื่อวัดเป็นภาษาโปรตุเกสว่า santa cruz แปลว่า กางเขนศักดิ์สิทธิ์ การตั้งชุมชนโปรตุเกสสมัยธนบุรี จึงประกอบด้วย ทหารโปรตุเกส ครอบครัวเชื้อโปรตุเกส และชาวตะวันตก 
ภาพชุมชนซางตาครู้สสมัยธนบุรี



ภาพชุมชนซางตาครู้สในปัจจุบัน

โบสถ์ซางตาครู้ส

คริสต์ศาสนา



การก่อตั้งชุมชนซางตาครู้สมีจุดเริ่มต้นจากการนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก บาทหลวงกอร์ ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้รวบรวมผู้นับถือศาสนาคริสต์และก่อตั้งวัดซางตาครู้สแห่งแรก ในปีพ.ศ.2312 จึงทำให้มีความสัมพันธ์กับศาสนาคริสต์ โดยมีบาทหลวงเป็นผู้ดูแลสมาชิกในชุมชนเรื่อยมา
ศาสนาเป็นสิ่งที่ทำให้สมาชิกทุกคนในชุมชนมีความรู้สึกบางอย่างร่วมกัน โดยไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ สัญชาติ ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นเอกภาพ  ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่าผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ในชุมชนซางตาครู้ส เป็นกลุ่มที่มีความเป็นเอกภาพ ท่ามกลางความหลากหลายทางชาติพันธุ์
และในปัจจุบันนี้ภายในบ้านเรือนแต่ละหลังของชุมชนก็ได้มีหิ้งบูชาและรูปเคารพคริสต์ศาสนาให้เห็น และยังมีกิจกรรมทางคริสต์ศาสนาทุกวันสำคัญอยู่อย่างเสมอๆ
ภาพของคริสต์ศาสนิกชนชาวซางตาครู้สที่ร่วมกิจกรรมทางศาสนาในโบสถ์ซางตาครู้ส


รูปเคารพทางคริสต์ศาสนาที่ปรากฏในบ้านเรือนของชุมชน


กระแสชุมชนท้องถิ่นกับชุมชนซางตาครู้สในฐานะชุมชนแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม


ปี พ.ศ. 2551 เป็นปีที่มีการฟื้นฟูกิจกรรมภายในชุมชนท้องถิ่นโดยธรรมชาติการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้คัดเลือกพื้นที่ชุมชนย่านกุฎีจีน ที่มีความโดดเด่นในด้านความหลากหลายวัฒนธรรมทั้งสามศาสนาอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี เริ่มต้นจากการนำเอาแนวคิดการจัดทำ "แผนที่มรดกวัฒนธรรมชุมชน" มาเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นชุมชนและแยาวชนให้เกิดความรัก ความเข้าใจและหวงแหนมรดกวัฒนธรรม เกิดความเข้มแข็งของชุมชนในการเคลื่อนกิจกรรมทางวัฒนธรรมของตนเอง
จากนั้นก็เกิดกิจกรรมฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กิจกรรมการจัดงาน "กะดีจีน ศิลป์ตามตรอกครั้งที่ 1 และ 2" ในปี พ.ศ. 2552-2553 รวมถึงกิจกรรมภาพถ่ายใต้แนวคิด "มรดกวัฒนธรรม สามศาสนา ย่านกะดีจีน" เพื่อกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์พัฒนาและการเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนย่านกุฎีจีน

ในปัจจุบัน (2554) ลักษณะของชุมชนกุฎีจีนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อันประกอบด้วยองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ การก่อตั้งชุมชนและมีความสืบเนื่องกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกสซึ่งมีปราชญ์ชุมชนที่สืบทอดความรับรู้ของความเป็นไทยเชื้อสายโปรตุเกสถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้สมาชิกรุ่นหลังของชุมชน หรือแม้กระทั่งขนมฝรั่งกุฎีจีน สินค้าทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนและแสดงถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาที่ยาวนานของชุมชนและที่สำคัญที่สุด ศาสนสถานของวัดซางตาครู้สได้เป็นศูนย์รวมจิตใจของบรรดาผู้นับถือและศรัทธาในคริสต์ศาสนา


แผนที่การท่องเที่ยวย่านกุฎีจีน

เงื่อนไขทางสังคมที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม


หลังจากที่ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยแล้ว ก็ได้นำเอาวัฒนธรรมต่างๆเข้ามาด้วย และเนื่องจากสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ต่างกันทำให้เกิดการดัดแปลง บูรณาการส่วนประกอบ หรือวัตถุดินพื้นถิ่นในไทยบางอย่าง หรือแม้แต่นำอาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในไทยหลายชนชาติมาปรับใช้กับวัฒนธรรมเดิมของตน

วัฒนธรรมด้านอาหาร


1.ขนมจีนแกงไก่คั่ว
แต่เดิมนั้นในวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวโปรตุเกส อาหารชนิดนี้เกิดการดัดแปลงมาจากสปาเกตตีไวท์ซอส และเมื่อเข้ามาในไทยแล้วนั้นชาวโปรตุเกสได้นำเอาเส้นขนมจีน(จากมอญ) และพริกแกงสีแดงกับกะทิ มาใช้แทนเส้นสปาเกตตีและไวท์ซอสตามลำดับ จึงเกิดเป็นอาหารของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่สืบทอดกันมา นั่นคือ ขนมจีนแกงไก่คั่วนั่นเอง
2.แกงเหงาหงอด

แกงชนิดนี้มีลักษณะและรสชาติคล้ายกับแกงส้มของภาคกลาง ซึ่งแต่เดิมนั้นวัตถุดิบหลักของเมนูนี้คือ ปลาสังกะวาด แต่ต่อมาเมื่อย้ายถิ่นฐานหรือเวลาผ่านไป จึงใช้ ปลาเนื้ออ่อน แทนเนื่องจากหาง่ายและมีราคาที่ถูกกว่า
3.แกงบาฝาด
แกงชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับต้มจับฉ่าย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมชาวจีนที่อาศัยอยู่ในไทยเช่นกัน โดยจะใส่ผักนานาชนิดลงในแกงพร้อมกับเนื้อสัตว์และต้มจนเปื่อยแล้วนำไปราดลงบนข้าวทันทีหลังจากที่แกงได้ที่แล้วซึ่งขั้นตอนนี้จะต่างจากต้มจับฉ่ายของจีน
และในปัจจุบันภายในชุมชนก็ยังมีบ้านที่คงเมนูดั้งเดิมเหล่านี้ไว้ รู้จักกันในนาม บ้านสกุลทอง ทั้งนี้บ้านสกุลทองได้รับจัดสำรับชาวโปรตุเกส และเปิดสอนการทำอาหารเหล่านี้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการรักษาและถ่ายทอดนานาเมนูอาหารโปรตุเกสให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น



ขนมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนซางตาครู้ส



1.ขนมฝรั่งกุฎีจีน
คล้ายกับ ขนมไข่ เชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัย ธนบุรี โดยมีบาทหลวงชาวโปรตุเกสเป็นผู้สอน แต่เดิมทำเพื่อฉลองภายในหมู่บ้าน เนื่องในเทศกาลตรุษสารท ได้รับการเผยแพร่และสืบทอดจนกลายมาเป็นอาชีพ และสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

2.ขนมกุสรัง / กุดสลัง / โบว์คริสต์มาส

เดิมเรียกว่า ขนมตรุษฝรั่ง มีความพิเศษคือ ใช้ความละเอียด และปราณีตในการจับแป้งให้เป็นรูปโบว์ ทำเฉพาะช่วงเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งแสดงในเห็นถึงวัฒนธรรมอาหารที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลสำคัญของศาสนา
บ้านธนูสิงห์ หรือ บ้านขนมฝรั่งธนูสิงห์ เป็นร้านขนมเล็กๆที่ตั้งอยู่ในชุมชนซางตาครู้ส และเป็นอีกหนึ่งลมหายใจที่ยังคงสืบทอดวัฒนธรรมและสูตรทำขนมที่คนรุ่นเก่าแก่ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังๆ โดยได้ต้นตำหรับมาจากชาวโปรตุเกส ที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนกุฎีจีนแห่งนี้



การแต่งงาน


การแต่งงานถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความหลากหลายและการผสมผสานทางชาติพันธุ์ ทั้งนี้จึงทำให้ชาวโปรตุเกสได้รับเอาวิถีชีวิตแบบไทย เช่น การแต่งกาย การปลูกบ้านเรือน การประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ชาวสวน พ่อค้า การประมง รวมทั้งการบริโภคอาหารของไทยแบบท้องถิ่น เป็นต้น


ภาพแสดงวิวัฒนาการทางกายภาพของชาวโปรตุเกสมาสู่การเป็นชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส

การสนับสนุนจากภาครัฐ ด้านการถือครองที่ดิน


ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านการถือครองที่ดินทั้งของคนไทยและชาวต่างชาติ ส่งผลให้พื้นที่ชุมชนซางตาครู้ส เป็นพื้นที่พระราชทานขอมิสซังคาทอลิก สมาชิกในชุมชนสามารถจับจองที่ดินและอยู่อาศัยได้อย่างถาวร
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456" ขึ้น โดยออกประกาศในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 การจัดตั้งนามสกุลนี้เองทำให้ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสมีนามสกุลเป็นของตัวเองและนั่นก็หมายความว่า ผู้ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นพลเมืองไทยอย่างสมบูรณ์


พระราชบัญญัติประถมศึกษา รวมทั้งนโยบายจากศาสนจักรคาทอลิก


นั่นคือการจัดตั้งโรงเรียนซางตาครู้สศึกษา ทั้งนี้เหตุนี้เองก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสและชาวไทยแท้ หรือแม้แต่ชาวไทยเชื้อสายอื่นๆ และก่อให้เกิดการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา และสำคัญที่สุดทำให้เกิดการผสมผสาน และความเข้าใจในความแตกต่างในเยาวชน ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อการอนุรักษ์และสืบเนื่อง เปลียนแปลงทางวัฒนธรรมต่อไปในอนาคต


แนวโน้มในอนาคต


“ข้อดีของชุมชนเราเป็นพี่น้องกันมาตั้งแต่แรก รู้จักกันหมด ทำให้การดูแลชุมชนทำได้ง่าย มีหลายโครงการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เช่น ชุมชนสีขาว ให้รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง ที่ผ่านมา เราจะช่วยเหลือตัวเองก่อน ขณะที่คนที่เข้ามาเป็นอาสาสมัคร ก็ไม่ได้มีค่าตอบแทนใดๆ เราทำด้วยใจจริงๆ”  คุณปิ่นทอง วงษ์สกุล ประธานชุมชนกุฎีจีนกล่าวไว้
และด้วยคำกล่าวนี้เองกอปรกับการที่คณะผู้จัดทำรายงานได้ลงพื้นที่แล้วนั้น จะเห็นได้ว่า ตราบใดที่เยาวชนและชาวชุมชนซางตาครู้สนี้ยังคงความภาคภูมิใจ และรู้ถึงรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของตนเองแล้วนั้น ก็จะสามารถคาดเดาได้ว่า สิ่งที่มีค่าเหล่านี้ นั่นหมายถึง วัฒนธรรม วิถีปฏิบัติ และสิ่งต่างๆเหล่านี้จะยังคงอยู่และมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นไปเรื่อยๆ ตราบใดที่คนรุ่นใหม่เหล่านี้ยังคงดำวงไว้ซึ่งอุดมการณ์ที่จะอนุรักษ์ รวมถึงโครงการต่างๆจากภาครัฐและเอกชนที่คอยสนับสนุนและเล็งเห็นถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้เอาไว้

บรรณานุกรม


ปิ่นอนงค์ ปานชื่น. (2560). เปิดสำรับโปรตุเกส-ไทย บ้านสกุลทอง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/738059. (วันที่ค้นข้อมูล: 8 เมษายน
2561).

พอฤทัย อดใจ.  2557. ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชาวไทย เชื้อสาย
โปรตุเกส กรณีศึกษาชุมชนวัดซางตาครู้ส ย่านกุฎีจีน กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์
มหาบัณฑิต , มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ย้อนอดีต..โปรตุเกสในสยาม ผ่านวิถีชุมชน ‘กุฎีจีน’. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
            https://www.thairath.co.th/content/1056740. (วันที่ค้นข้อมูล: 9 เมษายน 2561)

สัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับโปรตุเกสในสมัยอยุธยา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
           
http://siamportuguesestudy.blogspot.com/2010/06/blog-post_2011.html.
            (วันที่ค้นข้อมูล
: 9 เมษายน 2561)

สำรับสำราญอาหารสยาม-โปรตุเกส ชุมชนกุฎีจีน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
http://www.museumthailand.com/topic.php?p=346. (วันที่ค้นข้อมูล: 9 เมษายน 2561).